2555-10-29

เทคนิคเลือกลงทุน LTF-RMF อย่างง่าย

เทคนิคเลือกลงทุน LTF-RMF อย่างง่าย!

ใกล้สิ้นปีกันทีไร กองทุนรวมหุ้นระยะยาว [LTF] และกองทุนรวมเพื่อเกษียณ [RMF] จะได้รับการกล่าวถึงอย่างคึกคัก เพราะผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีบุคคลธรรมดา หรือมนุษย์เงินเดือนเริ่มคิดกันแล้วว่าจะลงทุนกองไหนดี วันนี้ขอนำเคล็ดลับเบื้องต้นในการเลือกกองทุนรวม LTF-RMF มาแนะนำเพื่อนๆ ค่ะ

ปัจจุบันกองทุนรวม LTF มีทั้งหมด 52 กอง มีทั้งกองทุนที่จ่ายเงินปันผลและไม่จ่ายเงินปันผล ขณ
ะที่กองทุนรวม RMF มีทั้งหมด 103 กอง และทั้งหมดเป็นกองที่ไม่จ่ายเงินปันผล
กองทุนรวม LTF มีนโยบายการลงทุนหลักๆ 3 ประเภท
1. กองทุนที่ลงทุนหุ้น 100% โดยมีนโยบายลงทุนในหุ้นเกือบทั้งหมด 100 %
2. กองทุน 70:30 มีนโยบายลงทุนในหุ้นประมาณ 70% ที่เหลืออีก 30% ลงทุนในตราสารหนี้
3. กองทุนรวมที่เรียกกันว่า Smart เน้นลงทุนในหุ้นที่มีความมั่นคงปลอดภัย และมีการป้องกันความเสี่ยงเอาไว้ด้วยการลงทุนตราสารอนุพันธ์ เป็นประเภทกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำมากและไม่สนใจเรื่องผลตอบแทนจากการลงทุน
กองทุนรวม RMF มีนโยบายการลงทุนหลักๆ 4 ประเภท
1. กองทุนลงทุนในหุ้น 100 % (มีทั้งหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศ)
2. กองทุนแบบผสม
3. กองทุนลงทุนตราสารหนี้(มีทั้งไทยและต่างประเทศ)
4. กองทุนลงทุนทองคำ

จากความหลากหลายทางด้านนโยบายการลงทุนทั้งกองทุนรวม LTF และRMF ทำให้ผู้ลงทุนตัดสินใจลงทุนลำบากพอสมควร เพราะไม่รู้ว่าจะเลือกกองทุนไหน เนื่องจากเมื่อลงทุนไปแล้วจะต้องอยู่ด้วยกันนานหลายปี ถึงแม้ว่าจะอนุญาตให้สับเปลี่ยนกองทุนได้ในระหว่างทาง แต่เชื่อว่าผู้ลงทุนไม่ต้องการเสียเวลาในเรื่องดังกล่าว ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ก็ต้องการเลือกลงทุนในกองทุนที่ใช่ตั้งแต่เริ่มต้นไปเลย

ก่อนตัดสินใจเลือกลงทุนกองทุนรวม LTF และ RMF ก่อนอื่นต้องสำรวจตัวเองก่อนว่าพร้อมที่จะลงทุนหรือไม่ นั่นคือ สำรวจว่ามีเงินเพียงพอหรือไม่ เพราะอย่างที่บอกว่าเมื่อลงทุนไปแล้วจะต้องอยู่ด้วยกันนานหลายปี ที่สำคัญต้องทำตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัด

เมื่อดูตัวเองแล้วคิดว่ามีความพร้อมแล้วที่จะลงทุนกองทุนรวม LTF หรือ RMF ถัดมาก็ต้องถามตัวเองว่าชอบลงทุนแบบไหน มีสไตล์การลงทุนอย่างไร เพราะนโยบายการลงทุนแต่ละประเภทจะมีความแตกต่างกันออกไป แถมกองทุนทั้ง 2 ประเภทมีรวมกันเป็นร้อยๆ กองทุน ที่สำคัญ แต่ละกองทุนมีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน

ยกตัวอย่างเช่น บางคนไม่ชอบควมเสี่ยงสูงๆ ก็ต้องหลีกเลี่ยงการลงทุนกองทุนรวม LTF เพราะมีนโยบายลงทุนในตลาดหุ้นทั้งหมด หรือบางคนมีสไตล์การลงทุนในตลาดหุ้นแบบสั้นๆ (ชอบเทรดดิง) กองทุนรวม LTF ก็อาจไม่สอดคล้องกับสไตล์การลงทุน

เช่นเดียวกันกับกองทุนรวม RMF ที่มีนโยบายการลงทุนหลากหลาย ดังนั้น ต้องเลือกลงทุนให้ดีๆ อย่างเช่น บางคนรับความเสี่ยงได้ต่ำๆ ก็ต้องเลือกกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนตราสารหนี้ แต่ถ้าชอบความเสี่ยงสูงๆ ก็ต้องเลือกกองทุนที่มีนโยบายลงทุนตลาดหุ้น ซึ่งมีให้เลือกทั้งตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นต่างประเทศ

เมื่อเลือกว่าจะลงทุนกองทุนรวม LTF หรือ RMF ไหนได้แล้ว ที่นี้ต้องเลือกดูข้อมูลว่าแต่ละกองทุนนั้นมีนโยบายการลงทุนเป็นอย่างไรบ้าง เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นการลงทุนในหุ้นหรือตราสารหนี้ ก็จะมีความแตกต่างในรายละเอียด และเพื่อความรวดเร็วในการคัดเลือก ก่อนอื่นต้องเลือกว่าต้องการลงทุนอะไร ด้วยการเลือกผ่านนโยบายการลงทุนหลักๆ

ถัดจากนั้น ก็เข้าไปดูรายละเอียดของกองทุนรวมนั้นๆว่าเป็นอย่างไร เพราะอย่างที่บอกถึงแม้จะลงในหุ้นเหมือนกันแต่ก็มีทั้งหุ้นขนาดใหญ่ หุ้นขนาดกลาง ขนาดเล็ก หุ้นเติบโตหรือหุ้นปันผล เช่นเดียวกันตราสารหนี้ มีทั้งพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ภาคเอกชน ตราสารหนี้ต่างประเทศ

เช่นเดียวกัน กองทุนรวมที่มีนโยบายไปลงทุนทองคำ ต้องดูว่าลงทุนทองคำในประเทศหรือมีนโยบายลงทุนทองคำในตลาดต่างประเทศ หรือกองทุนรวมแบบผสม ก็ต้องดูรายละเอียดว่าแบบผสมอะไรกับอะไร ผสมการลงทุนในสัดส่วนอย่างไรบ้าง

นอกเหนือไปจากที่กล่าวมาข้างต้นประเด็นที่ขาดไม่ได้ก่อนตัดสินใจกองทุนรวม LTF หรือ RMF คือ ต้องดูว่ากองทุนรวมนั้นๆ มีการบริหารจัดการอย่างไร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมมีความมั่นคงมากน้อยแค่ไหน

ถัดมาจะให้ดูว่ากองทุนรวมนั้นๆ ใครเป็นผู้จัดการกองทุน ถ้าลงไปแล้วมีผู้จัดการกองทุนมีผีมือดี มีประสิทธิภาพ ติดตามการลงทุนอยู่ตลอดเวลา ย่อมสร้างผลงานให้กับกองทุนรวมด้วยผลตอบแทนที่น่าประทับใจกว่าการลงทุนในกองทุนรวมที่มีผู้จัดการกองทุนแย่ที่สุด

ต่อมาต้องดูนโยบายและสไตล์การบริหารกองทุนรวม เพราะบางกองอาจจะมีนโยบายบริหารที่เน้นการซื้อๆ ขายๆ หรือทำเทรดดิง โดยให้ดูอัตรา Turnover Ratio ถ้าอยู่ในระดับสูง แสดงว่ามีการซื้อขายบ่อย แต่ถ้าอยู่ในระดับต่ำแสดงว่านโยบายบริหารกองทุนไม่เน้นซื้อขายบ่อยๆ

และต้องดูผลการดำเนินงานในอดีต ต้องศึกษาผลตอบแทนในอดีตว่าเป็นอย่างไร ผลตอบแทนที่ทำได้เพราะอะไร ทำไมถึงทำได้ ถึงแม้ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้บอกอนาคต แต่อย่างน้อยก็บอกได้ว่าหากผลงานในอดีตทำได้ดี ในอนาคตก็น่าจะทำได้ดี หรือในอดีตทำได้แย่ ผู้ลงทุนต้องคิดแล้วว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร

โดยผู้ลงทุนควรดูผลประกอบการการลงทุนย้อนหลัง 3-5 ปี หรือตั้งแต่กองทุนก่อตั้ง (ไม่ควรดูผลประกอบการย้อนหลัง 3 เดือน 6 เดือน) เพราะการลงทุนกองทุนรวม LTF หรือ RMF เป็นการลงทุนระยะยาว ดังนั้นก่อนลงทุนต้องดูความสม่ำเสมอของผลประกอบการ

ล่าสุด บริษัทมอร์นิ่งสตาร์ รีเสริช ประเทศไทยจำกัด ได้ทำดัชนีเพื่อวัดผลประสิทธิภาพการลงทุนของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมว่าเป็นอย่างไร เพราะอย่าลืมว่าสไตล์การลงทุนแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน บางแห่งมีความโดดเด่นในช่วงตลาดหุ้นเป็นขาขึ้นบางแห่งมีความโดดเด่นในช่วงตลาดขาลง

หากใช้วิธีเลือกสไตล์การลงทุนของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม จะช่วยให้ลดขั้นตอนการตัดสินใจเลือกกองทุนรวม LTF หรือ RMF ลงได้ โดยเฉพาะกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้น อย่างไรก็ตามวิธีการดังกล่าวเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในการเลือกลงทุน

วิธีการนี้ให้ดูที่ข้อมูล Upside Capture Ratio และ Downside Capture Ratio
โดย Upside Capture Ratio หมายถึง ค่าดัชนีที่ใช้ชี้วัดว่ากองทุนสามารถทำผลงานได้ดีหรือแย่กว่าดัชนีมาตรฐาน (Benchmark) ในช่วงตลาดขาขึ้น (ดัชนีมาตราฐานมีค่าเป็นบวก) ตัวอย่างเช่น ถ้ากองทุนรวม A มีค่า Upside Capture Ratio ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมาเท่ากับ 120.23% หมายความว่า สามารถทำผลตอบแทนได้ดีกว่าดัชนีมาตราฐานอยู่ 20.23% รวมถึงอาจจะบอกได้ว่ากองทุนนี้ทำผลตอบแทนได้ดีในช่วงตลาดขาขึ้น ดังนั้นค่า Upside Capture Ratio ยิ่งมากจะยิ่งดี (โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 100%)

ส่วน Downside Capture Ratio หมายถึง ค่าดัชนีที่ใช้ชี้วัดว่ากองทุนสามารถทำผลงานได้ดีหรือแย่กว่าดัชนีมาตราฐาน (Benchmark) ในช่วงตลาดขาลง (ดัชนีมาตราฐานมีค่าเป็นลบ)ตัวอย่างเช่น ถ้ากองทุนรวม A มีค่า Downside Capture Ratio ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมาเท่ากับ 86% หมายความว่าสามารถทำผลตอบแทนได้ดีกว่า ดัชนีมาตรฐานอยู่ 14 % รวมถึงอาจจะบอกได้ว่ากองทุนนี้มีผลตอบแทนได้ดีในช่วงตลาดขาลง ดังนั้น ค่า Downside Capture Ratio ยิ่งน้อยจะยิ่งดี (โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 100%)

จากตารางรูปภาพ จะเน้นกองทุนรวม LTF ที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้น 100% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพื่อที่จะได้ดูทั้งช่วงหุ้นขาขึ้นและหุ้นขาลง รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับการลงทุนระยะยาวด้วย จากตารางดังกล่าวพบว่าบริษัททรัพย์จัดการกองทุนรวมที่สามารถทำผลงานได้ดีในช่วงตลาดขาขึ้นได้แก่ บลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย), บลจ.ทิสโก้ และบลจ.กสิกรไทย ส่วนที่ทำได้ดีในช่วงตลาดขาลง ได้แก่ บลจ.กรุงศรี, บลจ.บัวหลวง และ บลจ.อเบอร์ดีน ซึ่งโดยรวมแล้วกองทุนรวมของทั้ง 6 แห่งนี้สามารถทำผลงานตอบแทนได้ดีด้วยเช่นเดียวกัน

ซื้อเฉลี่ยดีกว่า
เป็นเรื่องปกติที่ช่วงสิ้นปีหรือสัปดาห์สุดท้ายก่อนปิดฉลองปีใหม่จะเห็นผู้ลงทุนเข้าคิวเพื่อรอซื้อกองทุนรวม LTF หรือ RMF ตามสาขาธนาคาร ครั้นจะบอกว่าเพราะรอเงินเพื่อนำมาลงทุนช่วงปลายปีก็ไม่ใช่เหตุผลที่ถูกต้องนัก หรือจะรอเงินโบนัสประจำปีก็ยังไม่ใช่ สรุปแล้วการเข้าคิวยาวเหยียดมาจากความเคยชิน และเป็นความเคยชินที่ไม่ถูกต้องนัก

ที่น่าคิดไปกว่านั้น จะสังเกตว่าหลายๆ ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยช่วงปลายปีจะมีความคึกคัก ทำให้ดัชนีหุ้นปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องและเมื่อดัชนีปรับขึ้นไปสูงแล้ว ถ้าลงทุนจะได้ของแพง ที่สำคัญ กองทุนรวม LTF หรือ RMF เป็นการลงทุนระยะยาว จึงไม่ควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับจังหวะการลงทุน ที่สำคัญ ถ้ายังไม่ถึงเวลาขายก็ไม่สามารถขายได้

พูดง่ายๆ ถึงจะซื้อช่วงสิ้นปี ปีถัดไปก็ไม่มีสิทธิขายออก ถึงแม้ว่าจะเห็นกองทุนรวมที่ซื้อไปให้ผลตอบแทนสวยหรูขนาดไหนก็ตาม ดังนั้น การลงทุนที่เหมาะกับกองทุนรวม LTF หรือ RMF ก็คือทยอยลงทุน หรือ Dollar Cost Average (DCA)

ถึงแม้ว่าการทยอยลงทุนจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด หากมองถึงเรื่องผลตอบแทนแต่เป็นวิธีการลงทุนที่ดีที่สุดถ้ามองเรื่องการบริหารความเสี่ยง โดยวิธีการลงทุนก็คือ ลงทุนทุกๆ เดือนเท่าๆ กัน ซึ่งทำให้ต้นทุนจะเฉลี่ยไปเท่าๆ กัน ที่สำคัญ เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ยังไม่กล้าลงทุนด้วยจำนวนเงินมากๆ หรือค่อนข้างระมัดระวังในการลงทุน

หมายความว่า ผู้ลงทุนไม่ควรรอลงทุนกองทุนรวม LTF หรือ RMF ในสัปดาห์สุดท้ายของทุกๆ ปี แต่ควรทยอยซื้อทุกๆ เดือน และวิธีง่ายๆ ที่สุดก็คือ ให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมหักเงินเดือนในแต่ละเดือนไปเลย และถึงแม้ว่าการทยอยการลงทุนจะไม่สามารถบอกได้ว่าได้ผลตอบแทนที่ดีทุกครั้ง แต่อย่างน้อยบอกได้ว่าต้นทุนการลงทุนต่ำกว่าต้นทุนตลาด นั่นหมายความว่าโอกาสขาดทุนก็ลดน้อยลงไป

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ลงทุนควรมองการลงทุนกองทุนรวม LTF หรือ RMF ไม่ใช่แค่ประโยชน์ทางภาษี แต่ควรจะมองเป็นเรื่องการวางแผนการเงินระยะยาวเพื่อวัยเกษียณ ดังนั้น ควรเริ่มลงทุนตั้งแต่เนิ่นๆ เมื่อมีโอกาส เพราะการเก็บเงนผ่านกองทุนรวม LTF หรือ RMF มีข้อดีตรงที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี และยังได้ Investment Return ในระยะยาว และไม่ได้บังคับว่าจะลงทุนปีละเยอะๆ จึงเป็นการออมเงินแบบน้ำซึมบ่อทราย นั่นคือ ค่อยๆ สะสมไป ปีไหนมีมากก็ลงทุนมาก ปีไหนมีน้อยก็ลงทุนน้อย

และยิ่งลงทุนแบบทยอยลงทุนไปทุกๆ เดือน จะยิ่งรู้สึกว่าการออมเงินไม่ใช่เป็นภาระหนัก และที่สำคัญ เมื่อถึงเวลาครบกำหนดขายแล้ว ผู้ลงทุนควรลงทุนต่อ (ห้ามขายออกไปเด็ดขาด) หากมีวินัยการออมเงินแบบนี้ เมื่อถึงวัยเกษียณจะพบว่ามีเงินเก็บไว้ใช้ในบั้นปลายชีวิตอย่างพอเพียง



ที่มา : วารสาร Money & Wealth ฉบับเดือน ตุลาคม 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น